เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กวางได้รับเชิญจากทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ร่วมการเปิดตัวโครงการใหม่ของทางดอยตุง ที่จะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันธุรกิจของชุมชนให้เข้าสู่ผู้บริโภคได้ง่ายมากขึ้น โดยโครงการนี้ชื่อว่า Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคได้ของคุณภาพดีและได้ช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วย
ในส่วนของสินค้าที่จะเข้ามาขายในโครงการได้นั้น ต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่จะใช้คัดเลือกอย่างพิถีพิถัน โดยทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ทำการพัฒนาและจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินที่สำคัญ 5 ด้าน ดังนี้
- การประเมินผลกระทบทางสังคม – สิ่งแวดล้อม
- ประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ
- มาตรฐานการดำเนินกิจกรรมภายใน
- การจัดการด้านบุคลากรและองค์ความรู้
- ธรรมมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ (Good Governance)
ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นการยกระดับธุรกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชนสัญชาติไทยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ภายในงานมีตัวอย่างสินค้าทั้ง 10 แบรนด์ที่ได้ผ่านการคัดเลือก เพื่อออกจำหน่ายในโครงการให้เราได้ดูกันด้วยค่ะ
ใครที่ชอบอุดหนุนสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทย รับรองว่าจะต้องชอบมาก
เพราะสินค้าแต่ละตัวนั้นเป็นของมีคุณภาพ ที่ทางดอยตุงคัดแล้วคัดอีก ไม่ดีจริงไม่ได้ผ่านเข้ามาถึงมือเราๆแน่ๆ เพราะจากที่ได้ฟังสัมภาษณ์ของผู้ประกอบการ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กว่าจะผ่านเข้ามาไม่ง่ายเลย
สินค้าบางตัวก็เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันค่ะ แต่บางตัวที่เพิ่งเคยเห็นก็น่าสนใจทีเดียว
ส่วนตัวกวางชอบอุดหนุนสินค้าคนไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะพวกของประทินผิว สินค้าสมุนไพร
กาแฟคนไทยละมุนละไมตั้งแต่ต้นจนจิบ
และในส่วนธุรกิจเพื่อสังคม 10 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือกและได้เข้าร่วมโครงการ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store ก็มีดังนี้ค่ะ
- ๑4๑ (หนึ่งสี่หนึ่ง) ผลิตภัณฑ์ของใช้และของเล่น DIY ในแนวคิด Slow Play
- อภัยภูเบศร เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร และบริการสุขภาพโดยแพทย์แผนไทย
- โคโคบอร์ด สินค้าที่ผลิตจากไม้อัดเศษวัสดุทางการเกษตร
- แจสเบอร์รี่ (Siam Organic) ผลิตภัณฑ์ข้าว และชาอินทรีย์
- วิสาหกิจเพื่อสังคมวานีตา ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้และอาหารที่มีเอกลักษณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้
- มีวนา ผลิตภัณฑ์กาแฟอราบิก้าอินทรีย์ใต้ป่า
- Socialgiver Online Platform จำหน่าย GiveCardTM สำหรับใช้ในร้านอาหารและโรงแรมต่างๆ
- Local Alike Package การท่องเที่ยวแบบ Community-based (Voucher)
- วิสาหกิจชุมชนชีววิถี ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพรตำบลบ้านน้ำเกี๋ยน
- Folkcharm เครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากผ้าฝ้าย
ภายในงานมีการพูดคุยถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้เช่นกันค่ะ โดย ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้กล่าวถึง Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store ว่า “เป็นโครงการที่ต้องการพัฒนาต่อยอด และขยายผลในการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม ให้มีพื้นที่ในการขยายตลาดการค้าการลงทุน โดยเน้นการสร้างงานให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน สามารถต่อยอดธุรกิจจากชุมชนท้องถิ่น สู่ชุมชนเมือง รวมถึงภูมิภาคต่างๆ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงคัดเลือกธุรกิจเพื่อสังคมในช่วงเริ่มโครงการจำนวน 10 แห่ง ที่อยู่ในข่ายเกณฑ์ประเมินธุรกิจเพื่อสังคมของมูลนิธิฯ เข้าร่วมโครงการ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store โดยโครงการฯ มีนโยบายการขยายตลาดไปยังอาคารสำนักงานที่อยู่ในย่านชุมชน เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ และสร้างการจดจำในแบรนด์สินค้า ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ในอนาคตอีกด้วย”
จากที่เราได้ฟังถึงความตั้งใจในการเริ่มโครงการนี้ที่มีจุดมุ่งหวังที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ นับว่าเป็นโมเดลในการทำธุรกิจที่เป็นประโยชน์ทั้งวงจรจริงๆค่ะ ซึ่งในกรณีที่ผู้ส่งเข้าร่วมโครงการ แล้วไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก คืออาจจะยังมีจุดบกพร่องที่สามารถพัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้ ทางโครงการก็จะช่วยผลักดันให้สินค้านั้นๆไปได้ไกลมากกว่าเดิมอีกด้วยนะคะ เอาเป็นว่าโครงการดีๆแบบนี้ เราในฐานะผู้บริโภคก็รู้สึกอุ่นใจที่มีคนคอยคัดสิ่งดีๆก่อนมาถึงมือ เพราะบางทีเราก็ไม่รู้จริงๆค่ะว่าอันไหนคือของดีมีคุณภาพจริงๆ และสินค้าที่กวางได้เกริ่นไปข้างต้นนี้ เราสามารถไปช็อปกันได้ตามอาคารสำนักงานในย่านชุมชนเลยนะคะ ซึ่งจะเวียนไปในแต่ละที่ไม่ซ้ำกันเพื่อให้ครอบคลุมไปยังผู้บริโภคหลายๆที่เลย พักเที่ยงปุ๊ปก็ช็อปกันได้ทันที